คู่มือเลือกที่นอนฉบับคนติดห้อง ประเภทที่นอน ขนาดที่นอน พร้อมแนะนำวิธีเลือกที่นอนให้เหมาะสม

สำหรับใครที่อยู่บ้านเป็นประจำ หรือจัดตัวเองอยู่ในกลุ่ม “คนติดห้อง” การเลือกที่นอนดี ๆ สักหลัง ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าความหรูหรา เพราะพื้นที่พักผ่อนของคุณคือศูนย์กลางของทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะนอน ดูซีรีส์ ทำงาน หรือแม้กระทั่งกินข้าวในบางวัน ดังนั้น การเลือกที่นอนที่เหมาะสมทั้งด้านประเภท ขนาด และคุณสมบัติจึงสำคัญมาก บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับประเภทของที่นอน ขนาดต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคการเลือกให้ตรงใจและเหมาะกับไลฟ์สไตล์สุดชิลในห้องของคุณ

วิธีเลือกที่นอนให้เหมาะกับคนติดห้อง

วิธีเลือกที่นอนให้เหมาะกับคนติดห้อง

1. เช็กพฤติกรรมการใช้งานจริง
คุณใช้ที่นอนทำอะไรบ้าง? นอนอย่างเดียว หรือทำงาน กินข้าว ดูหนังบนเตียงด้วย? หากใช้หลายกิจกรรม แนะนำที่นอนที่รองรับสรีระได้ดี เช่น เมมโมรี่โฟมหรือยางพารา

2. พิจารณาขนาดห้องก่อนเลือกไซส์
ห้องมีพื้นที่เท่าไหร่? หากห้องเล็ก เลือกควีนไซส์หรือซิงเกิลเพื่อเหลือพื้นที่ใช้สอยอื่น

3. งบประมาณกับความคุ้มค่า
บางคนอยู่หอเช่าหรือเปลี่ยนที่อยู่บ่อย อาจไม่ต้องลงทุนมาก แต่ถ้าเป็น “คนติดห้อง” ตัวจริง ที่นอนคือการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิต ควรเลือกแบบที่ดีในระยะยาว

4. ลองนอนก่อนตัดสินใจ
ถ้าเป็นไปได้ ควรไปลองนอนที่โชว์รูมหรือร้านค้า เพื่อทดสอบความแน่น นุ่ม และความสบายจริงก่อนซื้อ

5. เลือกวัสดุที่ระบายอากาศดี 
อยู่ห้องทั้งวัน ต้องเลือกที่นอนที่ไม่อับชื้น ระบายอากาศได้ เช่น ยางพาราหรือฟองน้ำชนิดพิเศษ

ต่อไปนี้คือปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อที่นอน

ประเภทของที่นอนที่นิยมใช้

ประเภทของที่นอนที่นิยมใช้

1. ที่นอนสปริง (Spring Mattress)
เป็นที่นอนยอดนิยมที่ให้ความยืดหยุ่นดี รองรับน้ำหนักได้ดีเยี่ยม เหมาะกับคนที่นอนดิ้นหรือชอบความเด้งนุ่มในระดับกลางถึงมาก

2. ที่นอนยางพารา (Latex Mattress)
ผลิตจากยางพาราธรรมชาติหรือสังเคราะห์ จุดเด่นคือรองรับสรีระได้ดี ลดอาการปวดหลัง และมีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะกับคนที่ใช้เวลาบนเตียงนาน ๆ และต้องการการนอนที่ช่วยบำบัดกล้ามเนื้อ

3. ที่นอนเมมโมรี่โฟม (Memory Foam Mattress)
วัสดุที่ปรับรูปตามแรงกดทับ ช่วยลดแรงกดทับตามจุดต่าง ๆ เหมาะสำหรับคนนอนนิ่ง ร่างกายเมื่อยล้า หรือต้องการนอนแบบแนบแน่นกับที่นอน

4. ที่นอนฟองน้ำ (Foam Mattress)
เป็นที่นอนราคาย่อมเยา น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย แต่มีอายุการใช้งานน้อยกว่าแบบอื่น เหมาะสำหรับคนที่อยู่หอพัก หรือเปลี่ยนที่อยู่บ่อย

วิธีเลือกที่นอน-ขนาดที่นอนโดยทั่วไปมีให้เลือกกี่แบบ

ขนาดที่นอนโดยทั่วไปมีให้เลือกกี่แบบ?

ที่นอน 3.5 ฟุต (Single size ) ขนาด 107 x 198 ซม. : สำหรับคนนอนคนเดียว เหมาะกับห้องขนาดเล็ก

ที่นอน 5 ฟุต (Queen Size) ขนาด 152 x 198 ซม. : นอน 2 คนในพื้นที่จำกัด หรือคนเดียวที่อยากได้พื้นที่เพิ่ม

ที่นอน 6 ฟุต (King size) ขนาด 183 x 198 ซม. : นอน 2 คนสบาย ไม่เบียด เหมาะกับห้องขนาดกลาง-ใหญ่

ชอบนอนท่านี้ เหมาะกับที่นอนแบบไหน?

1. นอนหงาย : เหมาะกับที่นอนระดับ ปานกลาง – แน่น (Medium-Firm)

ท่านอนที่กระจายน้ำหนักได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องการการรองรับช่วงหลังส่วนล่างที่นอนแน่นพอประมาณจะช่วยรองรับแนวกระดูกสันหลังให้ตรง ไม่ยวบจนนอนแล้วปวดหลัง โดยเฉพาะถ้าใครมีแนวโน้มปวดหลังช่วงเช้า ควรเลี่ยงที่นอนที่นุ่มเกินไป

2. นอนตะแคง : เหมาะกับที่นอนระดับ นุ่ม – ปานกลาง (Medium-Soft)

ท่าที่มีแรงกดลงเฉพาะจุด โดยเฉพาะที่หัวไหล่และสะโพกต้องการความนุ่มพอให้สะโพกและไหล่จมลงได้บ้าง ช่วยลดแรงกดทับตามจุดต่างๆ แต่ไม่ควรนุ่มจนจม เพราะจะทำให้แนวกระดูกสันหลังบิดเบี้ยว เกิดอาการปวดคอหรือปวดหลังในระยะยาว

3. นอนคว่ำ : เหมาะกับที่นอนระดับ แน่น (Firm)

ท่าที่อาจทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากเกินไป หากที่นอนไม่เหมาะเพื่อให้ลำตัวไม่จมหรือแอ่น ช่วยให้หลังตรงมากขึ้น ควรเลือกที่นอนแน่นแบบไม่แข็งจนเจ็บตัว การรองรับที่มั่นคงจะช่วยให้ไม่ปวดหลังหรือคอเมื่อตื่น

วิธีเลือกที่นอน-ท่านอน

ขนาดที่นอน เลือกยังไงให้ลงตัวกับพื้นที่

  • เริ่มที่พื้นฐาน วัดขนาดห้องก่อนเสมอ

ก่อนเลือกขนาดที่นอนควรพิจารณาพื้นที่ในห้อง เช่น ห้องที่มีพื้นที่จำกัด หรือมีพื้นที่ขนาดกลาง ประมาณ 23-27 ตรม. อาจจะเหมาะกับขนาดที่นอน 3.5 หรือ 5 ฟุต

  • เผื่อพื้นที่ข้างเตียงไหม? : ควรเผื่ออย่างน้อย 60-80 ซม.

เพื่อให้เดินสะดวก เปิดลิ้นชัก หยิบของ และทำความสะอาดได้ง่าย ถ้าเป็นห้องเล็กมาก อาจใช้เตียงมีลิ้นชักใต้เตียงแทนตู้ข้างเตียง เพื่อประหยัดพื้นที่

เคล็ดลับดูแลที่นอนให้อยู่ได้นาน แม้จะใช้งานหนัก

 1. พลิกที่นอน / หมุนหัว-ท้ายเป็นประจำ

  • พลิกกลับด้านบน-ล่าง (ถ้ารุ่นนั้นพลิกได้) : ทุก 3-6 เดือน

  • หมุนหัว-ท้าย (180°) : สำหรับที่นอนที่พลิกไม่ได้ เช่น พ็อกเก็ตสปริง มีหน้าเดียว

โดยเฉพาะถ้าคุณนอนท่าเดิมทุกคืน หรือชอบนั่งมุมเดิม การหมุนจะช่วยให้ฟองน้ำหรือสปริงไม่เสื่อมเฉพาะจุด

2. ใช้แผ่นรองที่นอน (Mattress Protector)

เพื่อช่วยกันเหงื่อ, ฝุ่น, คราบ, เชื้อรา ยืดอายุที่นอนแบบเห็นผล กันน้ำได้ ป้องกันของหกหรือเหงื่อซึม ถอดซักได้ง่ายไม่ต้องซักที่นอนทั้งผืน ช่วยลดการสะสมไรฝุ่น ดีต่อคนแพ้ง่าย ถ้ามีสัตว์เลี้ยง หรือเด็กเล็ก แผ่นรองนี่แหละช่วยชีวิต!

3. ทำความสะอาดที่นอนอย่างสม่ำเสมอ

  • ดูดฝุ่น ทุก 2 สัปดาห์ ป้องกันไรฝุ่น

  • หากมีคราบเปื้อน ให้ซับออกทันทีด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ห้ามใช้น้ำเยอะ เพราะความชื้นทำให้เชื้อราขึ้นได้

4. ใช้เตียงที่มีฐานรองรับแข็งแรง

ที่นอนที่วางบนฐานไม่เรียบ หรือระแนงห่างเกินไป จะเกิดการยุบตัวผิดรูปในระยะยาว ถ้าใช้เตียงไม้ ควรเช็กว่าแผ่นรองแน่นดี หรือเสริมแผ่น MDF ไว้รองอีกชั้นก็ช่วยได้

ประเภทที่นอน-ที่นอนเมมโมรี่โฟม-Memory-Foam-Mattress

แล้ว “ควรเปลี่ยนที่นอน” เมื่อไร?

ถึงจะดูแลดีแค่ไหน ที่นอนก็มีอายุของมันเหมือนกัน โดยทั่วไป อายุเฉลี่ยของที่นอนอยู่ที่ 7-10 ปี แต่ถ้าเจอสัญญาณเหล่านี้ ก็อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยน

  • ที่นอนยุบเป็นหลุม นอนแล้วปวดหลัง

  • ได้กลิ่นอับแม้จะทำความสะอาดแล้ว

  • สปริงดังเอี๊ยด ๆ หรือรู้สึกกดหลัง

  • ฝุ่นเยอะจนแพ้บ่อย

Tip : ถ้าใช้ทุกวันหนัก ๆ เช่น นั่งทำงานบนเตียงบ่อย มีสัตว์เลี้ยงนอนด้วย อาจต้องเปลี่ยนเร็วขึ้นราว 6-8 ปี

สรุป ที่นอนดี ช่วยให้ชีวิตติดห้องมีคุณภาพ

  • อยู่ในห้องได้นานแบบไม่ปวดหลัง

  • มีเวลานอนที่ดี = สุขภาพดี

  • เตียงคือ comfort zone ของคนติดห้อง